ไคร้มด ๓

Glochidion eriocarpum Champ. ex Benth.

ชื่ออื่น ๆ
จานา (ประจวบคีรีขันธ์); ชะหนอน (ระนอง)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น มีขนกำมะหยี่ทั่วไป เปลือกสีนํ้าตาลเข้ม แตกเป็นร่องตามยาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปค่อนข้างรีหรือคล้ายรูปไข่กลับ มีขนนุ่มหนาแน่นทางด้านล่าง ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ สีเหลืองอมเขียว สีเหลือง สีขาวหรือสีนํ้าตาลอ่อน มีกลิ่นหอม ไม่มีกลีบดอก ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแป้น สีเขียว เมล็ดรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว สีแดงอมส้ม

ไคร้มดชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๘ ม. มีขนกำมะหยี่ทั่วไป เปลือกหนา สีน้ำตาลเข้มแตกเป็นร่องตามยาว

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปค่อนข้างรีหรือคล้ายรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๖-๖.๗ ซม. ยาว ๕.๕-๑๓ ซม. ปลายแหลมทู่หรือเรียวแหลม โคนเบี้ยว สอบแคบ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้ม เมื่อแก่เกือบเกลี้ยง ด้านล่างสีเขียวอ่อนมีขนนุ่มหนาแน่น เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๑๐ เส้น เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได ก้านใบยาว ๒-๕ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๑.๕-๓.๕ มม. ร่วงช้า

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกระจุกตามชอกใบดอกเพศผู้และดอกเพศเมียมักอยู่ด้วยกัน แต่ละช่อมีหลายดอก ดอกเพศหนึ่งจะมีเพียง ๑-๒ ดอก ที่เหลือเป็นดอกอีกเพศหนึ่ง ดอกสีเหลืองอมเขียว สีเหลือง สีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นหอม ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันเป็น ๒ วง วงนอกมีขนาดใหญ่กว่า ดอกเพศผู้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. ก้านดอกยาว ๖-๙ มม. มีขนยาวประปรายกลีบเลี้ยงรูปรีหรือรูปไข่กลับ กลีบวงนอกกว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๓ มม. กลีบวงในมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านชูอับเรณู เชื่อมติดกัน อับเรณูสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียวอมเทา ยาวประมาณ ๑ มม. แกนอับเรณูยื่นเป็นซี่ฟันแหลม ยาว ๐.๒-๐.๓ มม. สีเหลืองอ่อน ดอกเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. เมื่อเป็นผลก้านจะยาวได้ถึง ๘ มม. กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม กลีบวงนอกกว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๒ มม. กลีบวงในมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรีหรือรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๔-๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด มีขนยาวประปราย ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก ยอดเกสรเพศเมียเป็นรูปกรวย ยาว ๑-๒ มม. ปลายเป็นซี่ฟันสั้นหรือเรียบ

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแป้น กว้าง ๐.๙-๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๔ มม. สีเขียว มีขนยาวประปรายเมื่อแก่เกือบเกลี้ยง เป็นพูตื้น รอยเชื่อมเห็นไม่ชัดผนังผลบาง แกนกลางผลกว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๒-๓ มม. แต่จะเหลืออยู่เฉพาะที่ส่วนโคนเป็นรูปสามเหลี่ยม เมล็ดรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๔-๕ มม. หนาประมาณ ๓ มม. สีแดงอมส้ม

 ไคร้มดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามทุ่งหญ้าป่าผลัดใบ ป่าสน ป่าดิบ และที่รกร้าง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๕๐-๑,๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไคร้มด ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Glochidion eriocarpum Champ. ex Benth.
ชื่อสกุล
Glochidion
คำระบุชนิด
eriocarpum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Champion, John George
- Bentham, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Champion, John George (1815-1854)
- Bentham, George (1800-1884)
ชื่ออื่น ๆ
จานา (ประจวบคีรีขันธ์); ชะหนอน (ระนอง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต